Saturday, January 21, 2006

 

สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบัน (ตอนที่ 2)

Mobile Recruitment

สืบเนื่องจากปัญหาแรงงานขาดแคลน องค์กรบางแห่งจึงต้องใช้ยุทธวิธีการสรรหาบุคคลากรแบบเคลื่อนที่ คือแทนที่จะเป็นการแจ้งประกาศรับสมัครงานไว้ตามสื่อต่างๆ หรือตามหน่วยงานราชการก็ใช้วิธีการเดินสายออกไปหาแรงงานในถิ่นทรุกันดารตามต่างจังหวัด

การสรรหาแรงงานในเชิงรุกนั้นมิใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้ายังจำยุคสมัยหนึ่งที่วิศวกรขาดแคลนได้ จะพบว่ามีการ "จอง" ตัวนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์กันตั้งแต่ปีสาม ปีสี่ พักหลังก็ลดรูปลงมาเป็นการไปออกบูธตาม Job Fair ที่จัดในมหาวิทยาลัย

แต่การสรรหาแรงงานไร้ฝีมือในปัจจุบันทำได้ถึงลูกถึงคนกว่านั้นมาก!

กล่าวคือฝ่ายบุคคลของบริษัทจะนั่งรถตู้ออกไปตามชนบท (เหมือนขบวนการลักเด็กยังไงพิกล?) แล้วเข้าไปติดต่อตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อขออนุญาตแนะนำบริษัท จากนั้นจึงแจกใบสมัครให้เด็กนักเรียนที่กำลังจบมัธยมศึกษาปีที่สามรวมถึงนักเรียนที่จบแล้วด้วย หากใครสนใจก็กรอกใบสมัครและได้รับการสัมภาษณ์ในวันนั้นทันที

และถ้าตกลงปลงใจและไม่ติดขัดอะไร....ก็นั่งรถตู้กลับมาทำงานด้วยกันเลย!

(ไม่ได้ Up Blog ซะนาน...คราวนี้สั้นไปนิดนึงนะครับ)


Sunday, January 15, 2006

 

สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบัน (ตอนที่ 1)

ข้อมูลต่างๆ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ตรงครับ ทั้งที่เคยทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจากการพูดคุยกับผู้บริหาร (โดยเฉพาะผู้บริหารฝ่ายบุคคล)ในองค์กรต่างๆ

แรงงานไร้ฝีมือขาดแคลน

เชื่อไหมครับว่าเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานปฏิบัติการ (จบ ม.3 ขึ้นไป) ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์แห่งหนึ่งในอยุธยาอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ในขณะที่บัณฑิตคณะเกษตรศาสตร์ที่เข้าไปทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์อยู่ที่ประมาณ 8,500 บาท!

แรงงานไร้ฝีมือ หรือ Unskilled Labor กำลังขาดแคลนอย่างหนักจริงๆ ครับ

สมรภูมิการแย่งชิงคนงานในปัจจุบันจึงดุเดือดเลือดพล่านอย่างที่สุด โรงงานไหนที่พอจะมีกำลังจ่ายค่าจ้างเงินเดือนที่ "แพง" กว่าชาวบ้านก็จะเป็นแหล่งดึงดูดแรงงานเหล่านี้ไม่ให้หนีหายไปไหน

โรงงานไหนที่ "จ่าย" ไม่งาม ไม่มีการทำงานล่วงเวลา ไม่มีค่าจ้างล่วงเวลา ทำงานหนักกว่าที่อื่น (ในความรู้สึกของหนุ่มสาวโรงงาน) ก็จะเป็นเพียงที่พักใจชั่วคราว แรงงานเหล่านี้พร้อมจะโบยบินจากไปในทันที หากเขาหรือเธอได้งานใหม่ที่ "เชื่อ" ว่าได้เงินดีกว่า

อย่าลืมว่า "เงิน" กับ "ค่าตอบแทน" นั้นไม่เหมือนกันนะครับ เพราะ "ค่าตอบแทนที่ไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน" เช่น สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้ก็มีอยู่ในเงื่อนไข หากแต่แรงงานในระดับไร้ฝีมือนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้

การโยกย้าย การสับเปลี่ยน การหมุนเวียนแรงงานจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

โรงงานที่เนื้อหอมที่สุดในตอนนี้จะเป็นโรงงานในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ครับ

ด้วยเหตุที่มีอัตราการเติบโตสูง ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างจึงสูง ประกอบกับยอดการผลิตที่สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการจ้างล่วงเวลามากเช่นกัน

อุตสาหกรรมที่บอบช้ำที่สุดในเรื่องแรงงานก็จะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม
ประเด็นที่สำคัญคืออุตสาหกรรมประเภทนี้มีผลกำไรค่อนข้างต่ำอยู่แล้วเพราะหากตั้งราคาขายสูงเกินไปก็จะไม่สามารถสู้สินค้าจากจีนได้ รวมถึงธรรมชาติของกระบวนการผลิตที่เป็นกระบวนการแบบ "เน้นการใช้แรงงาน" (Labor Intensive) ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่ของการผลิตก็จะมาจากค่าจ้างแรงงานนั่นเอง

หากค่าจ้างแรงงานสูง ต้นทุนก็จะสูง

และเมื่อต้นทุนสูง ในขณะที่ราคาขายไม่สามารถตั้งให้สูงได้.....ก็ไม่มีกำไร

ประหนึ่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัด...ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเองนั้นก็ได้รับผลกระทบจากกลยุทธ์การกีดกันทางการค้าแบบไม่ใช้ภาษี (Non-Tariff Bariier Strategies) ของกลุ่มทุนเจ้าของแบรนด์ในอเมริกาที่ตั้งใจจะ "ดัดหลัง" แหล่งแรงงานราคาถูกอย่างประเทศจีนเป็นหลัก

สิ่งที่มากระทบอย่างจัง..คือการบังคับให้โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ส่งให้แบรนด์ชั้นนำอย่าง Disney หรือ Gap ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานหรือ SA8000 (Social Accountability Management System)

...และข้อกำหนดหนึ่งของ SA 8000 คือการ "จำกัด" ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน

ค่าจ้างต่ำ งานหนัก (ประณีต,ใช้ฝีมือมาก) ไม่มีล่วงเวลา.......แรงงานไร้ฝีมือจึงไหลออกไปสู่อุตสาหกรรม"ดาวรุ่ง" หมด

คำถามท้ายบท : เราจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร?

(ตอนต่อไป สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันตอนที่ 2 มาดูทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ผู้บริหารแต่ละที่มีทางออกอย่างไรกับปัญหานี้ โปรดติดตามครับ)

This page is powered by Blogger. Isn't yours?