Sunday, December 30, 2007

 

รายงานผลการดำเนินชีวิตประจำปี 2550

เมื่อต้นปี 2550 นัทสิมาได้เขียน To Do List อันเปรียบดังพันธกิจ (Mission) ของตนเองไว้ ดังนั้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเป้าหมายของตน จึงต้องนำมาสรุปเป็น "รายงานผลการดำเนินชีวิต ประจำปี 2550" ไว้ ณ ที่นี้

พันธกิจในปี 2550

1. ในขณะที่บรรดา Blogger เพื่อนบ้านของนัทสิมาอย่าง Mr.Gelgloog หรือ Epsie ต่างพากันลาพักร้อนเพื่อไปประกอบกิจส่วนตัวอันสำคัญยิ่ง นัทสิมากลับทำในสิ่งตรงข้าม กล่าวคือ แอบไปเปิด blog ไว้อีก 2 blogs ที่ wordpress ตั้งใจว่าอันนึงสำหรับเขียนเรื่องเชิงท่องเที่ยวเดินทาง (ที่นานๆ จะได้ไปไหนสักที) ส่วนอีกอันเป็น blog ของวิชาด้านคุณภาพที่สอนในเทอมนี้ปัจจุบัน blog หลังดูจะได้รับการดูแลมากกว่า อันเนื่องจากมีนักเรียนเข้ามาเยี่ยมชมเป็นระยะถ้าไม่รู้จัก up blog ล่ะก็....โดนล้อในคาบเรียนแย่เลย

สรุปผล - ปัจจุบันนัทสิมามี Blog ที่เปิดไว้ทั้งหมด 9 Blog ด้วยกัน ! โดยประกอบไปด้วย Blog เรื่อยเปื่อยจำนวน 2 Blog , ท่องเที่ยว 1 Blog, วิชาที่สอน 5 Blog และวิชาการ 1 Blog (แต่ที่ Active จริงๆ มีเพียง 2 Blog เท่านั้น ที่เหลือเป็นประเภท Slow move)

2. กล่าวโดยสรุป Blogspot (http://natsima.blogspot.com) ก็จะแปรสภาพจากที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเรื่องวิชาการแบบที่ไม่หนักเกินไปนัก กลายเป็น blog ประเภทรวมมิตร, ตามใจฉัน, เรื่อยเปื่อย ฯลฯ

สรุปผล - เป็นดังที่ตั้งใจไว้ทุกประการ Blog นี้เป็นแหล่งรวม everything เลยทีเดียวเชียว

3. ส่วนเรื่องเชิงวิชาการอาจจะมี post ที่นี่บ้าง (ไม่ว่าเขียนอะไรจะเอามาลงที่นี่เสมอ) เรื่องท่องเที่ยวก็ไปที่ wordpress อ้อ..ตั้งใจว่าจะเปิด blog ธรรมะรวมข้อเขียนสมัยอยู่ในเพศบรรพชิตเอาไว้ด้วย

สรุปผล - เรื่องท่องเที่ยวและเรื่องธรรมะ ไม่ได้เขียนเลย


4. ความถี่ในการ up blog จากเดิมในปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละครั้ง จะเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละครั้งให้ได้ (สู้ๆ)

สรุปผล - ทำไม่ได้!

5. ปีนี้ตั้งใจว่าจะทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศ (เป็นอย่างต่ำ) อย่างน้อย 3 เรื่อง ปัจจุบันเริ่ม kick off ไปแล้ว 1 เรื่อง ส่วนอีก 2 เรื่องกำลังคิดๆ หัวข้ออยู่

สรุปผล - งานวิชาการในปีนี้ค่อนข้างเป็นไปตามเป้า กล่าวคือมีงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศ 2 เรื่อง กำลังรอตีพิมพ์อีก 1 เรื่อง (รวมเป็น 3 เรื่องพอดี) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้ไป Conference อีก 1 เรื่องซึ่งเป็นงานที่ทำสมัยเรียนปริญญาโท และมีบทความวิเคราะห์การเมืองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจอีก 1 บทความ

6. ปีที่ผ่านมาซื้อหนังสือ (textbook) มาหลากหลายสาขาวิชา ตั้งใจว่าน่าจะค่อยๆ ย่อยไปได้อย่างน้อย 50%

สรุปผล - เนื่องจากปีนี้เปลี่ยนที่ทำงาน อีกทั้งยังย้ายเวทีวิชาการจากศาสตร์แขนงหนึ่งไปอีกแขนงหนึ่ง หนังสือที่ซื้อมาเลยยังอยู่ของมันอย่างนั้น แต่คาดว่าจะได้อ่านภายใน 3-5 ปีนี้แหละ

7. ถ้าไม่มีอะไรผิดไปจากแผนที่วางไว้ ปีนี้น่าจะเปิดบริษัท (เล็กๆ) ของตัวเองได้

สรุปผล - บริษัทคงจะเปิดได้หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ช่วงนี้ต้องหมกมุ่นและฟุ้งซ่านกับงานวิจัยไปก่อน

8. ถ้าไม่มีอะไรผิดแผน น่าจะมีเวลาว่างมากขึ้น และอาจจะทำหนังสือวิชาการสัก 1 เล่ม

สรุปผล - ปีนี้เขียน "เอกสารประกอบการสอน" ได้ 5 บท เลยเอาไปรวมเป็นหนึ่งเล่ม แล้วเขียนหน้าปกว่า "เล่ม 1" ณ ปัจจุบัน บทที่ 6 ก็ยังไม่ได้เขียนต่ออยู่ดี...แล้วมันจะมีเล่ม 2 ไหมเนี่ย?

9. อยากลดน้ำหนัก น่าจะลดได้ (ถ้าพยายาม)

สรุปผล - น้ำหนักไม่ลด แต่ก็ไม่เพิ่ม ช่วงที่ย้ายมาบ้านนอกใหม่ๆ พยายามตื่นไปวิ่งออกกำลังกายแต่ทำได้ประมาณเดือนนึงก็กลับสู่ภาวะปกติ ยังคงต้องพยายามต่อไป

กล่าวโดยสรุป ปีนี้เป็นที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ต้องปรับปรุงในส่วนของคุณภาพชีวิต นั่นคือต้องออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักและเสริมสร้างสุขภาพให้จริงจังมากขึ้น

ส่วนเรื่อง Blog ก็ควร ลด ละ เลิก ความบ้าพลังลง แล้วหันมา Update ให้ถี่ขึ้นเป็นอันๆ ไปจะดีกว่า

จบการรายงานแต่เพียงเท่านี้

Monday, December 24, 2007

 

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะเลือกพรรคพลังประชาชน?

ผลการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาคงจะไม่สร้างความประหลาดใจให้กับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามผลการสำรวจ (โพล) จากสำนักต่างๆ มาตลอดช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่จำเป็นต้องได้รับคำอธิบายก็คือ เหตุใดคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังคงให้ความไว้วางใจพรรคพลังประชาชน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยอันอื้อฉาว?

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา 2 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรกคือเรื่องของ Threshold ซึ่งหมายถึงระดับต่ำสุดของแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้ถูกกระตุ้น “รู้สึก” ยกตัวอย่างเช่น การที่เราค่อยๆ ใช้เล็บจิกลงไปบนแขนของเพื่อนแล้วถามเพื่อนว่ารู้สึกเจ็บไหม? หากไม่เจ็บก็เพิ่มแรงกดเรื่อยๆ จนกระทั่งเพื่อนร้องจ๊ากออกมา..นั่นแหละครับ Threshold อย่างไรก็ตามหลังจากเลยจุด Threshold นี้ไปแล้ว แม้ว่าเราจะเพิ่มแรงกดมากขึ้นเท่าใด เพื่อนเราก็ไม่ใช่จะไม่เจ็บนะครับ ยังเจ็บอยู่แต่ความเจ็บนั้นก็จะ “เท่าๆ กัน” กับความเจ็บที่จุด Threshold นั่นเอง (นอกเสียจากเราจะจิกซะจนเลือดพุ่งออกมา...ซึ่งนั่นก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง)

เรื่องระดับความ “เจ็บ” นี่เองที่จะใช้ในการอธิบายว่าเหตุใดคนไทยที่เคย “เจ็บ” กับระบอบทักษิณมาแล้วยังคงกลับไปเลือกนอมินีของระบอบทักษิณกันอีก

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ถึงความฉ้อฉลของนักการเมืองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ชาวบ้านยังรู้อีกว่านักการเมืองหลายๆ คนก็คือ “นักโกงเมือง” ที่ยักยอก ตักตวง และถ่ายเททรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของตนทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ทั้งที่โกงแบบค่อยๆ ละเลียดโกง และที่โกงแบบมูมมามโฉ่งฉ่าง

นั่นคือ “ความเจ็บที่ถูกโกง” ของชาวบ้านนั้นผ่านจุด Threshold มาแล้วครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อ perception ของชาวบ้านคือ “นักการเมืองทุกคนโกงเหมือนกันหมด” จะโกงสี่แสนแปดหมื่นบาท หรือโกงเจ็ดหมื่นแปดพันล้านบาท ก็สร้าง “ความเจ็บที่ถูกโกง” พอๆ กัน

อีกประการหนึ่ง ในความเห็นส่วนตัวของผมคือ จำนวนเงินในระดับหลักล้านสำหรับชาวบ้านแล้วมีค่าเท่ากันคือ “มหาศาล”

ดังนั้น ถ้าเราจะมาบอกว่ารัฐบาลไทยรักไทยโกงประเทศชาติไปกว่าเจ็ดหมื่นแปดพันล้านบาทในขณะที่อีกรัฐบาลของอีกพรรคการเมืองหนึ่งไม่ได้โกงกันมากขนาดนี้ (อาจจะบอกว่าโกงกันแค่ระดับสิบล้าน)

ในมุมมองของชาวบ้านแล้ว ปริมาณเงิน “มหาศาล” ที่ทั้งสองพรรคนั้นโกงประเทศชาติไปนั้นมันเท่าๆ กันครับ

ดังนั้น เมื่อคิดตามทฤษฎีนี้จะพบว่า ที่สุดแล้วพรรคการเมืองทุกๆ พรรคก็จะเหมือนกัน พรรคไหนได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคนั้นก็จะโกงประเทศชาติอย่าง “มหาศาล” พอๆ กัน

คำถามต่อมาคือ ก็ในเมื่อทุกพรรคต่างก็ “ไม่ดี” พอๆ กันแล้ว ทำไมต้องเลือกพรรคพลังประชาชนด้วย?

ทฤษฎี Framing Effect น่าจะสามารถใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้

ใจความสำคัญของทฤษฎีนี้คือ เราจะ “รู้สึกดี” เสมอถ้าเราเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

Perception ของรัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของพ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นภาพจำอันชัดเจนของ “ความเอื้ออาทร” ซึ่งรัฐบาลมีต่อพี่น้องประชาชน (ที่ให้ความไว้วางใจพรรค) ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค และโครงการ “เอื้ออาทร” อื่นๆ อีกมากมาย

ตรงกันข้ามกับภาพจำที่มีต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เข้ามาบริหารประเทศช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ หรือยุค IMF ที่ผู้คนต้องกระเบียดกระเสียร ดอกเบี้ยเงินฝากถูกลดลง ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ค่าเงินตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง

เป็น Perception ของ “ความสูญเสีย” ที่ฝังแน่นในความทรงจำของชาวบ้านมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

จากทฤษฎี Threshold ที่สรุปว่าชาวบ้านรับรู้ถึงความสามารถในการโกงของทุกพรรคเท่าๆ กัน มาถึงทฤษฎี Framing Effect ที่สรุปว่า Perception ดีๆ ที่มีต่อพรรคไทยรักไทยยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดคนไทยส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะเลือกพรรคพลังประชาชน

Monday, December 10, 2007

 

LIVESTRONG - จงมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็ง

5 ธันวาคม 2550

จากการจัดของในวันหยุดทำให้ผมไปค้นเจอ wristband สีเหลืองที่ซื้อจากเซ็นทรัลลาดพร้าวในราคาร้อยกว่าบาทเมื่อหลายปีก่อนซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ "ของทำเทียม" จะวางขายเกร่อเมือง (และราคาก็ตกลงมาเหลืออันละไม่กี่สิบบาท)

ด้วยความที่คิดว่ามันน่าจะทดแทนกับ wristband "เรารักพระเจ้าอยู่หัว" สีเหลืองเข้มที่ตนเองไม่มีได้ ผมเลยหยิบมาปัดฝุ่นแล้วสวมเข้าที่ข้อมือด้านขวา

ในตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรอื่น คิดเพียงว่าใส่เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับกายในกระแสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเท่านั้น


6 ธันวาคม 2550

ขณะที่กำลังคุยเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนอาจารย์ที่นั่งโต๊ะติดกัน จู่ๆ เสียงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแกก็ดังขึ้น ผมเลยเดินกลับมาที่โต๊ะทำงานและจัดการกับการบ้านของนักศึกษาที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ได้สนใจบทสนทนาทางโทรศัพท์ของเพื่อนอาจารย์

สักพัก เพื่อนอาจารย์ผู้นั้นก็ชะโงกหน้าข้าม partition มาแล้วบอกกับผมด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่าคงต้องฝากแจ้งนักศึกษาในคาบเรียนวันศุกร์ของแกด้วยว่าสัปดาห์นี้งดเพราะแกต้องเข้ากรุงเทพฯ ด่วน

จำได้ว่าผมเองยังพูดแซวออกไปว่าเข้ากรุงเทพฯ บ่อยจัง มีอะไรอยู่ที่นั่นหรือเปล่า?

อาจารย์หนุ่มวัย 30 ต้นๆ ที่เพิ่งจบจากออสเตรเลียผู้นั้น ไม่ได้ตอบอะไร ได้แต่ยิ้มๆ

..เป็นยิ้มที่ดูเศร้ากว่าทุกวันที่ผมเคยเห็น


7 ธันวาคม 2550

ขณะที่ผมกำลังคุมทีมบาสเกตบอลชายของคณะฯ ซึ่งกำลังซ้อมเพื่อเตรียมลงแข่งกีฬาระหว่างคณะในมหาวิทยาลัยก็มีสัญญานเรียกเข้ามาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผม

หน้าจอโชว์เบอร์ของเพื่อนอาจารย์ผู้นั้น

"ว่าไงครับอาจารย์ กรุงเทพฯ สนุกไหม?" ผมยังแซวไม่เลิก
"ครับ เอ่อ..อาจารย์นัทครับ ผมมีเรื่องแจ้ง" น้ำเสียงเขาตอบกลับมาดูเรียบๆ อย่างประหลาด
"ผมมาฟังผลการวิเคราะห์เนื้อเยื่อที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ครับ หมอแจ้งว่าผมเป็นมะเร็งในโพรงจมูก แต่อยู่ในระยะเริ่มต้นที่ยังพอมีโอกาสรักษาให้หายได้ ระหว่างนี้ผมคงต้องอยู่กรุงเทพจนกว่าผลการรักษาจะดีขึ้น ฝากอาจารย์แจ้งคณบดี และแจ้งนักศึกษาด้วยนะครับ"

ผมนิ่งไปพักนึงก่อนจะรับคำและคุยกันเรื่องการฝากฝังวิชาที่แกสอนอยู่ ฯลฯ ครู่ใหญ่ก่อนจะวางสายไป

10 ธันวาคม 2550

ผมถอด wristband LIVESTRONG สีเหลืองอันนั้นออกจากข้อมือด้านขวาตั้งแต่วันที่ได้ทราบข่าวการเป็นมะเร็งของเพื่อนอาจารย์ท่านนั้นแล้ว

ตอนนี้มันอยู่ในซองจดหมายสีขาวที่จ่าหน้าถึงโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมีวงเล็บมุมซองว่า

(LIVESTRONG - จงมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งนะครับอาจารย์)

This page is powered by Blogger. Isn't yours?