Monday, September 25, 2006

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับผลกระทบต่อนัทสิมา

จั่วหัวช่วงต้นประโยคดูขึงขังดี แต่ถ้าใครอ่านจนถึงท้ายประโยคก็คงจะบอกว่า

"เรื่องเรื่อยเปื่อยของนัทสิมา เอพพิโสด 2 อ่ะดิ?"

แหม...ไม่ขนาดนั้น
-------------------------------
ดึกๆ คืนวันที่ 19 กันยายน ปี 49 นัทสิมาดูคุยคุ้ยข่าวไปโทรศัพท์ไปพลาง ไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในสีหน้าและท่าทางของพิธีกรคู่หูเลยสักนิด

คุยคุ้ยข่าวจบแล้ว

มีรายการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอะไรสักอย่าง..นัทสิมายังคงฟังเพื่อนปรับทุกข์เรื่องจะเปลี่ยนงานผ่านหูฟังโทรศัพท์มือถือ

แว้บ! หน้าเหลี่ยมๆ ของท่านนายกฯ ทักษิณก็โผล่ออกมา พร้อมกับตัวหนังสือโปรยด้านล่าง

"ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน"

นัทสิมานึกในใจ...ปฏิวัติแหง พลางหยิบรีโมทเปลี่ยนสถานีไปเรื่อยๆ

ช่อง 3 ละคร
ช่อง 5 เพลงพระราชนิพนธ์
ช่อง 7 ละคร
ITV โฆษณา

นัทสิมานึกในใจ...ตาฝาดรึเปล่าฟะ?
พลัน ! รายการปกติทั้งหลายก็กลายเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ตามช่อง 5 ไปหมด นัทสิมาลนลานรีบเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าสู่เวบไซต์ที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลที่สุด

"ขณะนี้ขบวนรถถังได้บุกเข้ายึดทำเนียบแล้ว" พาดหัวในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ว่าไว้อย่างนั้น

----------------------------------------------------
เช้าวันที่ 20 กันยายน ปี 49
นัทสิมาโทรเช็คต้นสังกัดว่ายังต้องไปสอนหนังสือที่ระยองหรือไม่?
คำตอบคือ ถ้าทางโน้นไม่หยุดก็ให้ไปตามปกติ
ปรากฏว่าที่ระยองไม่หยุดอ่ะ...นัทสิมาเลยต้องเดินทางด้วยใจตุ้มๆต่อมๆ ด้วยกังวลว่าหากคณะปฏิรูปประกาศเคอร์ฟิว นัทสิมาจะกลับบ้านได้ไหม?

ระหว่างทางมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี นัทสิมาพบทหารจำนวนหนึ่งยืนอยู่บริเวณทางแยกเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ
ได้กลิ่นอายและบรรยากาศของการรัฐประหารกรุ่นๆ
นัทสิมานึกในใจ...จะได้กลับบ้านไหม?
------------------------------------------
คนส่วนใหญ่รู้สึก "โล่งอก" ที่มีการรัฐประหาร
ไม่ว่าใครจะชอบหรือเชียร์ฝ่ายใดก็ตาม
การรัฐประหารเสมือนเป็นตัวหยุดความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมที่กำลังจะก่อตัวเป็นพายุลูกใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
------------------------------------------
21 กันยายน 2549
นัทสิมาเดินออกจากสนามบินเชียงใหม่พร้อมๆ กับชายผิวขาวร่างท้วมคนหนึ่ง
ใครหลายคนยกมือไหว้ทักทายชายคนดังกล่าว
ใครบางคนแอบกระซิบว่า ท่านสส. มาคราวนี้ไม่มีผู้ติดตามเหมือนเคย

ทหารที่สนามบินเชียงใหม่ดูคึกคักและขึงขังกว่าในกรุงเทพฯ มาก
ทหารที่กรุงเทพแม้จะถือปืน แต่ก็พอดูออกว่าไม่ได้บรรจุกระสุน
ทหารที่เชียงใหม่ไม่เพียงแต่จะบรรจุกระสุนไว้ในแมกกาซีนเท่านั้น ยังมีการพาดกระสุนเป็นตับเหมือนแรมโบ้อีกต่างหาก!
-----------------------------------------
22 กันยายน 2549
แท็กซี่สนามบินบอกนัทสิมาว่าทหารทำแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน
ท่านนายกทักษิณจะได้พักผ่อน
ท่านนายกจะได้ลงจากอำนาจอย่างมีเกียรติที่โดนทหารทำรัฐประหาร

...ไม่ใช่โดนนายสนธิอะไรก็ไม่รู้มาด่าไล่ปาวๆ

ตรรกะง่ายๆ ก็คือ
1. แม้ว่าคนเชียงใหม่ชอบทักษิณ แต่คนเชียงใหม่ก็รักสงบ
2. การรัฐประหารทำให้ประเทศสงบ
3. ดังนั้น คนเชียงใหม่ชอบการรัฐประหาร
------------------------------------
นัทสิมาบอกไม่ถูกว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่?
ในแง่หนึ่ง นัทสิมาชื่นชมในประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ที่คณะปฏิรูปฯใช้
ในแง่หนึ่ง นัทสิมาค่อนข้างโล่งใจที่จะไม่เกิดการปะทะระหว่างขั้วความขัดแย้ง

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การรัฐประหารไม่อาจจะก่อให้เกิด "การเรียนรู้" ที่จะเติบโตของประชาธิปไตยในประเทศไทย
-----------------------------------
อาจารย์ฝรั่งชาวอังกฤษของนัทสิมาเคยบอกไว้ว่า
"....ในการเขียน writing นั้น คุณจะเขียนอะไรออกมาก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากให้คนอื่น"เชื่อ" ในสิ่งที่คุณเขียน

.....คุณต้อง "เชื่อ" ในสิ่งนั้นก่อน"


เอาเป็นว่า ณ วันนี้

นัทสิมายังไม่เชื่อว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่พึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย

This page is powered by Blogger. Isn't yours?