Tuesday, September 02, 2008

 

การเพิกเฉยและความเป็นกลางทางการเมือง

ประเด็นทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้อากาศร้อนในฤดูฝนทวีความร้อนขึ้นไปหลายเท่า

แม้จะมีแต่คนบอกว่า "ดูข่าวการเมืองแล้วเครียด...อย่าไปดูมันเลย" แต่ผมก็ใช้เวลาส่วนหนึ่งของวันคอยติดตามสถานการณ์ของกลุ่มการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา

เครียดน่ะ...ก็ใช่อยู่
แต่จะให้ไม่สนใจเลยเนี่ยมันผิดวิสัยอดีต Activist นะครับ

.........................................................................

ไม่รู้เคยเขียนบอกไปหรือยังว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นะครับ

อ่านแล้วและ "คิดแล้ว" ว่า "ไม่รับ"

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากเหตุผลหลักที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากกระบอกปืนก็คือการระบุไว้ในมาตราหนึ่ง (ขออภัยที่จำไม่ได้) ว่า ข้าราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานของรัฐต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

ผมไม่เข้าใจว่า "ความเป็นกลางทางการเมือง" ตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญคืออะไร?

และผมก็ไม่แน่ใจด้วยว่าจะปฏิบัติตามได้?

..........................................................................

อาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมรู้จักบ่น "พันธมิตรฯ" ให้ฟังว่าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

จะเดินทางไปไหนก็ไม่สะดวก มาหยุดเดินรถไฟ มาขัดขวางการเดินทางโดยเครื่องบินของนักท่องเที่ยวแบบนี้แย่มาก

ว่าแล้วแกก็บอกว่ากำลังเขียนโครงการสมานฉันท์ จะให้คนที่ "เป็นกลาง" ออกมาแสดงตัวโดยใส่เสื้อสีขาว แล้วบอกว่าเราไม่นิยมความรุนแรง จะทำอะไรก็ทำ อย่าทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน

สีขาว = เป็นกลาง

ผมฟังแล้วก็แอบถอนใจและส่ายหน้า

ถ้าใส่เสื้อขาวแล้วทำให้นายกรัฐมนตรีและแกนนำพันธมิตรเลิก "ดื้อ" ได้

ผมใส่ให้ทั้งปีเลยเอ้า!

........................................................

หลายคนบอกว่า การเมืองไทยวันนี้แบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน

จริงๆ แล้วผมว่ามีมากกว่านั้น

ลองทำแบบสอบถามทัศนคติโดยใช้ Likert scale ประมาณ 5 น่าจะพอดี

คำถามคือ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพและควรวางมือ"

ในช่องแสดงความคิดเห็นก็มีตั้งแต่ เห็นด้วยมาก เห็นด้วย ปานกลาง ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยมากที่สุด

เชื่อสิครับว่ามีคนกามาให้ทุกช่อง

และ

เชื่อสิครับว่าถ้านับความถี่แล้วจะมีคนกาให้ช่อง "ปานกลาง" มากที่สุด

............................................................

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า "ความเป็นกลางทางการเมือง" กับ "การเพิกเฉยทางการเมือง" นั้นต่างกัน

แต่ในขณะเดียวกันก็ซ้อนทับกันอยู่

ใครบางคนอาจจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับฝ่ายไหนทั้งสิ้น ไม่สนใจว่าใครหรือฝ่ายไหนจะทำอะไร

ขออย่างเดียว...อย่ามาทำให้ฉันเดือดร้อนเป็นพอ

ผมเองนั้นเป็นประเภทที่ไม่ได้เห็นด้วยกับพันธมิตรฯไปซะทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับรัฐบาลเหมือนกัน

ผมยอมรับว่าการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วง 100 วันทีผ่านมานั้นมี "คุณูปการ" บางอย่างต่อสังคมไทย

แต่ "วิธีการ" ที่พันธมิตรเลือกใช้ในช่วงหลังๆ นั้นก็ดูจะเกินเลยไปมาก

เวลาเราแก้ปัญหาทางวิศวกรรมนั้น "วิธีการ" ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เพราะ "วิธีการ" ที่ผิด ย่อมนำไปสู่ "ผลลัพธ์" ที่ผิดเสมอ

และท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผลลัพธ์ที่พันธมิตรฯ ตั้งใจให้เป็นเมื่อแรกเริ่มขับเคลื่อนการชุมนุม

กับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด

คงต่างกัน

แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

ผมมั่นใจว่าสังคมประชาธิปไตยของเราจะเติบโตขึ้น

แม้ว่าการเติบโตนั้นจะเจ็บปวดบ้างก็ตาม

Labels:


This page is powered by Blogger. Isn't yours?