Monday, December 24, 2007

 

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะเลือกพรรคพลังประชาชน?

ผลการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาคงจะไม่สร้างความประหลาดใจให้กับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามผลการสำรวจ (โพล) จากสำนักต่างๆ มาตลอดช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่จำเป็นต้องได้รับคำอธิบายก็คือ เหตุใดคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังคงให้ความไว้วางใจพรรคพลังประชาชน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยอันอื้อฉาว?

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา 2 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรกคือเรื่องของ Threshold ซึ่งหมายถึงระดับต่ำสุดของแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้ถูกกระตุ้น “รู้สึก” ยกตัวอย่างเช่น การที่เราค่อยๆ ใช้เล็บจิกลงไปบนแขนของเพื่อนแล้วถามเพื่อนว่ารู้สึกเจ็บไหม? หากไม่เจ็บก็เพิ่มแรงกดเรื่อยๆ จนกระทั่งเพื่อนร้องจ๊ากออกมา..นั่นแหละครับ Threshold อย่างไรก็ตามหลังจากเลยจุด Threshold นี้ไปแล้ว แม้ว่าเราจะเพิ่มแรงกดมากขึ้นเท่าใด เพื่อนเราก็ไม่ใช่จะไม่เจ็บนะครับ ยังเจ็บอยู่แต่ความเจ็บนั้นก็จะ “เท่าๆ กัน” กับความเจ็บที่จุด Threshold นั่นเอง (นอกเสียจากเราจะจิกซะจนเลือดพุ่งออกมา...ซึ่งนั่นก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง)

เรื่องระดับความ “เจ็บ” นี่เองที่จะใช้ในการอธิบายว่าเหตุใดคนไทยที่เคย “เจ็บ” กับระบอบทักษิณมาแล้วยังคงกลับไปเลือกนอมินีของระบอบทักษิณกันอีก

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ถึงความฉ้อฉลของนักการเมืองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ชาวบ้านยังรู้อีกว่านักการเมืองหลายๆ คนก็คือ “นักโกงเมือง” ที่ยักยอก ตักตวง และถ่ายเททรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของตนทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ทั้งที่โกงแบบค่อยๆ ละเลียดโกง และที่โกงแบบมูมมามโฉ่งฉ่าง

นั่นคือ “ความเจ็บที่ถูกโกง” ของชาวบ้านนั้นผ่านจุด Threshold มาแล้วครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อ perception ของชาวบ้านคือ “นักการเมืองทุกคนโกงเหมือนกันหมด” จะโกงสี่แสนแปดหมื่นบาท หรือโกงเจ็ดหมื่นแปดพันล้านบาท ก็สร้าง “ความเจ็บที่ถูกโกง” พอๆ กัน

อีกประการหนึ่ง ในความเห็นส่วนตัวของผมคือ จำนวนเงินในระดับหลักล้านสำหรับชาวบ้านแล้วมีค่าเท่ากันคือ “มหาศาล”

ดังนั้น ถ้าเราจะมาบอกว่ารัฐบาลไทยรักไทยโกงประเทศชาติไปกว่าเจ็ดหมื่นแปดพันล้านบาทในขณะที่อีกรัฐบาลของอีกพรรคการเมืองหนึ่งไม่ได้โกงกันมากขนาดนี้ (อาจจะบอกว่าโกงกันแค่ระดับสิบล้าน)

ในมุมมองของชาวบ้านแล้ว ปริมาณเงิน “มหาศาล” ที่ทั้งสองพรรคนั้นโกงประเทศชาติไปนั้นมันเท่าๆ กันครับ

ดังนั้น เมื่อคิดตามทฤษฎีนี้จะพบว่า ที่สุดแล้วพรรคการเมืองทุกๆ พรรคก็จะเหมือนกัน พรรคไหนได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคนั้นก็จะโกงประเทศชาติอย่าง “มหาศาล” พอๆ กัน

คำถามต่อมาคือ ก็ในเมื่อทุกพรรคต่างก็ “ไม่ดี” พอๆ กันแล้ว ทำไมต้องเลือกพรรคพลังประชาชนด้วย?

ทฤษฎี Framing Effect น่าจะสามารถใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้

ใจความสำคัญของทฤษฎีนี้คือ เราจะ “รู้สึกดี” เสมอถ้าเราเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

Perception ของรัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของพ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นภาพจำอันชัดเจนของ “ความเอื้ออาทร” ซึ่งรัฐบาลมีต่อพี่น้องประชาชน (ที่ให้ความไว้วางใจพรรค) ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค และโครงการ “เอื้ออาทร” อื่นๆ อีกมากมาย

ตรงกันข้ามกับภาพจำที่มีต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เข้ามาบริหารประเทศช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ หรือยุค IMF ที่ผู้คนต้องกระเบียดกระเสียร ดอกเบี้ยเงินฝากถูกลดลง ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ค่าเงินตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง

เป็น Perception ของ “ความสูญเสีย” ที่ฝังแน่นในความทรงจำของชาวบ้านมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

จากทฤษฎี Threshold ที่สรุปว่าชาวบ้านรับรู้ถึงความสามารถในการโกงของทุกพรรคเท่าๆ กัน มาถึงทฤษฎี Framing Effect ที่สรุปว่า Perception ดีๆ ที่มีต่อพรรคไทยรักไทยยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดคนไทยส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะเลือกพรรคพลังประชาชน

Comments:
ไม่แวะมาหานานแล้วครับอาจานนัทซิม่า

คตะลุยอ่านของอาจานซะตาปรือเลย ฮี่ๆ

ส่วนของทฤษฎีที่นำเสนอมาผมว่าเจ๋งดีแฮะ ง่ายๆแต่ทรงพลังดี แถมอธิบายปรากฏการณ์ได้ชัดเจนด้วย

ว่าแล้วก็ขอสวัสดีปีใหม่อาจานไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ
 
โอทส์..ขอบคุณ mr.gelgloog ที่แวะเข้ามาครับ

สวัสดีปีใหม่เช่นกัน ขอให้มีความสุขตามอัตภาพนะครับ
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?