Tuesday, November 14, 2006

 

12 สัญญาณอันตรายในกระบวนการที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาด

คำว่า “Red-flag” หรือ “สัญญาณอันตราย” มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอุตุนิยมวิทยา โดยมักพบในรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาทางทะเลแห่งชาติ (National Oceanic & Atmospheric Administration; NOAA) ที่ใช้เตือนภัยในกรณีที่เกิดความกดอากาศต่ำและสภาพความชื้นในอากาศอันอาจก่อให้เกิดการลุกลามของไฟหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้น

Red-Flag Condition ในภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิตหรือการบริการก็ตาม ต่างก็จะมีลักษณะเสี่ยงภัยซึ่งหากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจสร้างความผิดพลาดที่ลุกลามไปสู่ความสูญเสียได้ในที่สุด

1. การขาดมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผล (Lack of an effective standard): มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard operating procedure, SOP) หรือคู่มือการทำงาน (Work Instruction, WI) เป็นสิ่งที่อธิบายถึงวิธีการทำงานที่ถูกต้องและมีประสิทธิผล พนักงานในองค์กรที่ขาดมาตรฐานเหล่านี้จะไม่สามารถทราบได้ว่าคุณภาพในการผลิตหรือการบริการของตนนั้นคืออะไร? นอกจากนี้หากมาตรฐานการปฏิบัติงานมีความซับซ้อนและยากเกินกว่าที่เข้าใจได้ก็จะมีผลต่อความผันแปรของกระบวนการซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดได้

2. ความสมมาตร (Symmetry) : เมื่อด้านตรงข้ามของชิ้นส่วน, เครื่องมือ, วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ช่วยในการทำงานมีลักษณะที่เหมือนกัน อาจทำให้เกิดความสับสนในการใช้งานขึ้นได้

3. ความไม่สมมาตร (Asymmetry) : เมื่อด้านตรงข้ามของชิ้นส่วน,เครื่องมือ, วัตถุดิบหรืออุปกรณ์มีความต่างกันทั้งในแง่ของขนาด, รูปทรง หรือ ตำแหน่ง ซึ่งความแตกต่างเพียงน้อยนิดนี้อาจสร้างความยากลำบากในการระบุว่าต้องการใช้ด้านใด นำไปสู่ความสับสนและกลายเป็นความผิดพลาดในที่สุด

4.การทำซ้ำอย่างรวดเร็ว (Rapid repetition) : เกิดขึ้นเมื่อมีการทำกิจกรรมเดิมๆ อย่างรวดเร็ว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าการกระทำหรือกิจกรรมที่ทำซ้ำนั้นจะเกิดขึ้นจากเครื่องจักรหรือจากคนก็ตาม ต่างก็เพิ่มโอกาสในการเกิดความผิดพลาดขึ้นทั้งนั้น

5. การทำงานในปริมาณมาก (Extremely high volume) : อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการทำซ้ำอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การที่ต้องทำงานในปริมาณที่มากยังเป็นการกดดันพนักงาน ทำให้การทำงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานเป็นได้อย่างยากลำบาก นำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย

6. สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดี (Poor environmental conditions) : แสงไฟสลัว, การระบายอากาศที่ไม่ดี, ความสกปรกรกรุงรัง หรือความจอแจในพื้นที่ทำงานล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความผิดพลาดได้ การปรากฏของวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอม (เช่น ฝุ่นหรือคราบน้ำมัน), การจัดเก็บและการเคลื่อนย้ายที่มากเกินไปก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการที่ชิ้นงานหรือวัสดุจะเกิดความเสียหายขึ้นได้

7. การปรับแต่ง (Adjustments) : รวมไปถึงการปรับชิ้นส่วน, เครื่องมือ หรืออุปกรณ์จับยึดให้อยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง

8. เครื่องมือและการเปลี่ยนเครื่องมือ (Tooling and tooling changes) : เกิดขึ้นเมื่อชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงกลจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการสึกหรอหรือความผิดปกติที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์ก็ตาม

9. ขนาด, สเปค และจุดที่มีความสำคัญ (Dimensions, specifications, and critical conditions) : Dimension จะหมายถึงค่าที่ได้จากการวัดเพื่อแสดงหรือเพื่อหาตำแหน่งหรือขนาดของชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจรวมถึง ความสูง ความกว้าง ความยาว และความลึก ส่วนสเปคและจุดที่มีความสำคัญอาจรวมถึงอุณหภูมิ ความดัน ความเร็ว ความตึง จำนวน และปริมาตร ซึ่งการที่กระบวนการมีความผันแปรในขนาด สเปค และจุดที่มีความสำคัญนี้จะนำไปสู่ภาวะล้มเหลวของกระบวนการและผลิตภัณฑ์ได้

10. การมีชิ้นส่วนที่มากเกินไป หรือชิ้นส่วนปะปนกัน (Many or mixed parts) : ในบางกระบวนการเราอาจพบว่ามีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่หลายชิ้น โดยแต่ละชิ้นอาจมีจำนวนที่ต่างกันและบางครั้งอาจปนกันอยู่ซึ่งจำเป็นต้องมีการ “เลือก” หรือ “แยก” ก่อนที่จะนำไปใช้ ความผิดพลาดจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากหากมีจำนวนชิ้นส่วนที่ต่างกันหลายแบบ และแต่ละแบบดูคล้าย ๆ กัน

11. ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่หลายหลาย (Multiple steps) : หลายๆ กระบวนการจะประกอบไปด้วยการปฏิบัติงานย่อยๆ หลายขั้นตอน ซึ่งความผิดพลาดและความสูญเสียจะขึ้นหากผู้ปฏิบัติงานหลงลืมการทำงานในบางขั้นตอน, ทำงานสลับขั้นตอน หรือ ทำงานในบางขั้นตอนซ้ำๆ

12.การผลิตที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง (Infrequent production) : ขั้นตอนการผลิตหรือการบริการที่ไม่ได้ทำเป็นประจำทำให้พนักงานหลงลืมขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสมตลอดจนอาจจะจำสเปคที่สำคัญบางอย่างไม่ได้ ความเสี่ยงต่อการผิดพลาดจะเพิ่มมากขึ้นหากงานที่ไม่ได้ทำประจำนั้นมีความซับซ้อนมาก

การค้นหาสภาพที่เรียกว่า Red-flag นั้นจำเป็นต้องกระทำโดยการลงไปสู่พื้นที่การปฏิบัติงานจริง การอาศัยเพียงสามัญสำนึกหรือความเชื่ออาจนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่ยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อกันในแต่ละกระบวนการด้วย

Reference:
Richard L. MacInnes, “The Lean Enterprise Memory Jogger”, 2002, GOAL/QPC

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?