Thursday, August 31, 2006

 

8 เทคนิคในการเตรียมตัวก่อนเข้าคลาสฝึกอบรม

(หมายเหตุ : ช่วงนี้นัทสิมาอ่าน CLEO และ COSMOPOLITAN มากไปนิด เลยอยากลองเขียน How to สไตล์สาวคอสโมดูบ้าง)

--------------------------------------------------------------------------------------------------

คนที่เคยผ่านการฝึกอบรมสัมมนามาบ้างคงจะพอรู้สึกได้ว่าการอบรมบางหลักสูตรก็ช่วยเปิดมุมมองและโลกทัศน์ของเราอย่างมาก แต่บางหลักสูตรก็ออกจะน่าเบื่อจนอยากจะลุกหนีออกจากห้องเรียนให้รู้แล้วรู้รอดไป แน่นอนว่าในฐานะของผู้เข้าอบรม (ทั้งที่โดนบังคับและสมัครใจ) สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือไปจาก “ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ” นั่นคือ เราได้อะไรมากน้อยแค่ไหนจากการอบรมในแต่ละครั้ง?

การจะได้ “อะไร” มากหรือน้อยในแต่ละครั้งที่เราเข้ารับการอบรมนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของหลักสูตรหรือความสามารถในการถ่ายทอดของวิทยากรแล้ว ผู้เข้าอบรมเองก็มีส่วนทำให้ปริมาณและคุณภาพของความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียนเพิ่มมากขึ้นได้ อยู่ที่ว่าเราจะมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกอบรมนั้นหรือไม่? และหากเราต้องการได้รับสิ่งที่วิทยากรถ่ายทอดให้มากขึ้นแบบทวีคูณแล้วล่ะก็...นี่คือสิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมพึงกระทำ

1. ตั้งเป้าหมายในใจ : ลองคิดดูว่าหลังจากจบหลักสูตรนี้ไปแล้ว..ฉันจะต้องรู้อะไร? ฉันจะทำอะไรได้เพิ่มขึ้น? ทางที่ดีควรจะลองกำหนดเป้าหมายไว้สัก 3-6 ข้อ

2. เตรียมคำถามล่วงหน้า : พิจารณาจากหัวข้อหลักสูตรแล้ว ลองตั้งคำถามประมาณ 10-15 ข้อ อาจจะใช้หลัก 5W 1H เช่น ทำไมต้องเรียนหลักสูตรนี้? หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับใช้เมื่อใด? และอื่นๆ อีกมากมาย

3. สร้างมิตรภาพ : รู้จักเพื่อนร่วมชั้นเอาไว้เยอะๆ ใครจะไปรู้ว่าคนที่นั่งเรียนข้างๆ คุณในวันนี้ อาจเป็นใหญ่เป็นโต มีกิจการระดับประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้การเรียนรู้จากคนที่มีหน้าที่ในงานรูปแบบต่างๆ กันย่อมสร้างความแตกฉานในเนื้อหาวิชาได้มากขึ้น

4. วางแผนนำความรู้ไปใช้ : ให้สัญญากับตัวเองไปเลยว่า จะเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนางานในด้านใด? ทำอย่างไร? และจะทำเมื่อไหร่? นี่เป็นทางหนึ่งที่จะให้คุณเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการที่คุณอุตสาห์สละเวลามานั่งเรียน

5. มีส่วนร่วมในกิจกรรมในชั้นเรียน : ไม่เข้าใจตรงไหนก็ยกมือถามจากวิทยากร หรือขอความเห็นจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน การแลกเปลี่ยนเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นการที่คุณเอาตัวไปพัวพันและเอาจิตใจไปจดจ่อกับเนื้อหาอยู่ตลอดเวลายังจะช่วยให้คุณไม่พลาดทุกรายละเอียดของเนื้อหาวิชาอีกต่างหาก

6. สร้างความสัมพันธ์กับวิทยากร : ไม่ได้หมายถึงการชวนวิทยากรไปปาร์ตี้หลังจบคลาส หรือนัดกันไปดูหนังในวันหยุดสุดสัปดาห์ ความสัมพันธ์ในที่นี้หมายถึงการที่คุณได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวหรือแนะนำตัวอย่างเป็นทางการกับวิทยากร เผื่อว่าในอนาคตหากคุณมีคำถามที่ต้องการคำตอบในเรื่องนั้นๆ อย่างน้อยก็ยังพอจะมีผู้รู้ไว้ให้คอยปรีกษา

7. มีศิลปะในการจดบันทึก : การจดบันทึกที่ดีไม่ได้หมายถึงการจดทุกคำพูดหรือทุกประโยคของวิทยากร (บางคนจดแม้กระทั่งมุขตลกที่วิทยากรพูด!) แต่หมายถึงการจดในประเด็นที่สำคัญอย่างชัดเจน เน้น..จดให้ชัดเจนและให้มั่นใจว่าเมื่อเวลาผ่านไปคุณยังสามารถกลับมาอ่านสิ่งที่คุณบันทึกไว้ได้โดยไม่ต้องพึ่งนักแกะอักขระโบราณจากที่ไหนๆ!

8. มีความสุขกับการเรียน : ไม่ว่าคุณจะโดนบังคับข่มขืนใจให้มาเรียน หรือจำเป็นต้องมาด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้คุณไม่สบายใจ ก่อนเริ่มการเรียนการสอน...ลืมมันซะ ทำใจให้สนุกกับการเรียน แล้วคุณจะพบว่าคุณได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดไว้

(Reference: IRCA-UK :Introduction session of Lead Assessor Course's delegate notes, 1999)

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?